You are currently viewing ชีทสรุป TFRS 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า

ชีทสรุป TFRS 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า

ชีทสรุป TFRS 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า

ชีทสรุปบัญชี มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า เป็นสรุป “เนื้อหาสำคัญ” เท่านั้น เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมสอบบัญชี CPA นักเรียนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากมาตรฐานฉบับเต็มบนเว็บไซต์สภาวิชีพบัญชี

สารบัญ

  • ขอบเขต TFRS 15
  • 5 ขั้นตอนรับรู้รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า
  • ขั้นตอนที่ 1 ระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า
  • ขั้นตอนที่ 2 ระบุภาระที่ต้องปฏิบัติในสัญญา
  • ขั้นตอนที่ 3 กำหนดราคาของรายการ
  • ขั้นตอนที่ 4 ปันส่วนราคาของรายการให้กับภาระที่ต้องปฏิบัติที่รวมอยู่ในสัญญา
  • ขั้นตอนที่ 5 รับรู้รายได้

ขอบเขต TFRS 15

มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 5 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า (TFRS 15) ครอบคลุมรายการหรือบัญชีอะไรบ้าง? TFRS 15 ครอบคลุม “สัญญาที่ทำกับลูกค้า” ยกเว้น (1) สัญญาเช่าตาม TFRS 16 เรื่อง สัญญาเช่า, (2) สัญญาประกันภัยตาม TFRS 4, (3) เครื่องมือทางการเงินตาม TFRS 9 และ (4) การแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นตัวเงินระหว่างธุรกิจเดียวกัน

5 ขั้นตอนรับรู้รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า

หลักการรับรู้รายได้แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า (2) ระบุภาระที่ต้องปฏิบัติในสัญญา (3) กำหนดราคาของรายการ (4) ปันส่วนราคาของรายการให้กับภาระที่ต้องปฏิบัติที่รวมอยู่ในสัญญา และ (5) รับรู้รายได้เมื่อปฏิบัติตามภาระที่ต้องทำเสร็จสิ้น

ขั้นตอนที่ 1 ระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า

ขั้นตอนแรกของ TFRS 15 คือการระบุว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ สัญญา (Contract) จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าเงื่อนไข 5 ข้อ ดังนี้

  1. เกิดผลผูกพันให้ทั้งสองฝ่ายต้องทำตามสัญญา ไม่จำเป็นต้องเป็นลายลักษณ์อักษร
  2. ระบุสิทธิของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้
  3. ระบุเงื่อนไขการชำระสิ่งตอบแทนได้
  4. สัญญามีเนื้อหาเชิงพาณิชย์
  5. มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่าจะเรียกเก็บสิ่งตอบแทนได้

ตัวอย่าง: ลูกค้านำขนมปังไปชำระที่หน้าเคาเตอร์ร้านสะดวกซื้อถือว่าสัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะ (1) เกิดภาระผูกพันพนักงานต้องคิดเงินและส่งมอบขนมปัง ส่วนลูกค้าต้องจ่ายเงิน (2) สิทธิของร้านค้าคือได้รับเงินและลูกค้าได้รับขนมปัง (3) เงื่อนไขส่งมอบคือการชำระด้วยเงินแลกกับขนมปัง (4) มีเนื้อหาเชิงพาณิชย์ และ (5) มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่าลูกค้าจะจ่ายเงินค่าขนมปัง

ขั้นตอนที่ 2 ระบุภาระที่ต้องปฏิบัติในสัญญา

ภายใต้ 1 สัญญา สามารถมีภาระที่ต้องปฏิบัติได้มากกว่า 1 รายการ กิจการจะต้องประเมินว่าสัญญามีกี่ภาระ ณ วันเริ่มต้นสัญญา ภาระจะแยกจากกันเมื่อเข้าเงื่อนไข 2 ข้อ คือ (1) ลูกค้าได้รับประโยชน์จากการใช้สินค้าหรือบริการโดยตรง และ (2) ข้อตกลงส่งมอบสินค้าแยกจากกันได้

ขั้นตอนที่ 3 กำหนดราคาของรายการ

กิจการจะต้องกำหนดราคาของรายการ (สัญญา) ว่าภาระผูกพันนี้มีราคาเท่าไหร่เพื่อใช้ปันส่วนในขั้นตอนที่ 4 การกำหนดราคาประกอบด้วย: ราคาที่กำหนดในสัญญา + สิ่งตอบแทนผันแปร + สิ่งตอบแทนที่ไม่ใช่เงินสด – สิ่งตอบแทนที่จ่ายให้ลูกค้า – ค่าจัดหาเงินที่มีนัยสำคัญ

สิ่งตอบแทนผันแปร เช่น ส่วนลด การให้เงินคืน เงินจูงใจจากการขาย

ขั้นตอนที่ 4 ปันส่วนราคาของรายการให้กับภาระที่ต้องปฏิบัติที่รวมอยู่ในสัญญา

กรณี 1 สัญญามีมากกว่า 1 ภาระ กิจการจะต้องปันส่วน “ราคาของรายการ (สัญญา)” ให้แต่ละภาระ วิธีปันส่วนทำได้ 3 แบบ

  1. วิธีปรับปรุงจากการสำรวจตลาด
  2. วิธีต้นทุนที่คาดไว้บวกด้วยอัตรากำไร
  3. วิธีส่วนของราคาที่เหลือ

ขั้นตอนที่ 5 รับรู้รายได้

กิจการจะรับรู้รายได้เมื่อทำภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้น หมายถึง “โอนอำนาจควบคุม” ในสินค้าไปยังลูกค้า การโอนอำนาจควรคุมทำได้ 2 แบบ คือ (1) ภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้นตลอดช่วงเวลาหนึ่ง และ (2) ภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง กิจการจะต้องระบุว่าใช้วิธีพิจารณาแบบใด ณ วันเริ่มต้นสัญญา

กรณี 1 รับรู้รายได้ตามภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้นตลอดช่วงเวลาหนึ่ง สามารถใช้ได้เมื่อลักษณะของภาระเข้าข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

  • ลูกค้าได้รับประโยชน์จากการใช้ทันที
  • ลูกค้าได้อำนาจควบคุมเพิ่มขึ้น
  • การปฏิบัติงานของกิจการไม่ก่อให้เกิดการนำไปใช้อื่น

กรณี 2 รับรู้รายได้ตามภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ใช้เมื่อกรณี 1 ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้