ชีทสรุป TFRS 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า
ชีทสรุปบัญชี มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 15 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า เป็นสรุป “เนื้อหาสำคัญ” เท่านั้น เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมสอบบัญชี CPA นักเรียนสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมจากมาตรฐานฉบับเต็มบนเว็บไซต์สภาวิชีพบัญชี
สารบัญ
- ขอบเขต TFRS 15
- 5 ขั้นตอนรับรู้รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า
- ขั้นตอนที่ 1 ระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า
- ขั้นตอนที่ 2 ระบุภาระที่ต้องปฏิบัติในสัญญา
- ขั้นตอนที่ 3 กำหนดราคาของรายการ
- ขั้นตอนที่ 4 ปันส่วนราคาของรายการให้กับภาระที่ต้องปฏิบัติที่รวมอยู่ในสัญญา
- ขั้นตอนที่ 5 รับรู้รายได้
ขอบเขต TFRS 15
มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 5 เรื่อง รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า (TFRS 15) ครอบคลุมรายการหรือบัญชีอะไรบ้าง? TFRS 15 ครอบคลุม “สัญญาที่ทำกับลูกค้า” ยกเว้น (1) สัญญาเช่าตาม TFRS 16 เรื่อง สัญญาเช่า, (2) สัญญาประกันภัยตาม TFRS 4, (3) เครื่องมือทางการเงินตาม TFRS 9 และ (4) การแลกเปลี่ยนที่ไม่เป็นตัวเงินระหว่างธุรกิจเดียวกัน
5 ขั้นตอนรับรู้รายได้จากสัญญาที่ทำกับลูกค้า
หลักการรับรู้รายได้แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ได้แก่ (1) ระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า (2) ระบุภาระที่ต้องปฏิบัติในสัญญา (3) กำหนดราคาของรายการ (4) ปันส่วนราคาของรายการให้กับภาระที่ต้องปฏิบัติที่รวมอยู่ในสัญญา และ (5) รับรู้รายได้เมื่อปฏิบัติตามภาระที่ต้องทำเสร็จสิ้น
ขั้นตอนที่ 1 ระบุสัญญาที่ทำกับลูกค้า
ขั้นตอนแรกของ TFRS 15 คือการระบุว่าสัญญาเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ สัญญา (Contract) จะเกิดขึ้นเมื่อเข้าเงื่อนไข 5 ข้อ ดังนี้
- เกิดผลผูกพันให้ทั้งสองฝ่ายต้องทำตามสัญญา ไม่จำเป็นต้องเป็นลายลักษณ์อักษร
- ระบุสิทธิของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้
- ระบุเงื่อนไขการชำระสิ่งตอบแทนได้
- สัญญามีเนื้อหาเชิงพาณิชย์
- มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่าจะเรียกเก็บสิ่งตอบแทนได้
ตัวอย่าง: ลูกค้านำขนมปังไปชำระที่หน้าเคาเตอร์ร้านสะดวกซื้อถือว่าสัญญาได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะ (1) เกิดภาระผูกพันพนักงานต้องคิดเงินและส่งมอบขนมปัง ส่วนลูกค้าต้องจ่ายเงิน (2) สิทธิของร้านค้าคือได้รับเงินและลูกค้าได้รับขนมปัง (3) เงื่อนไขส่งมอบคือการชำระด้วยเงินแลกกับขนมปัง (4) มีเนื้อหาเชิงพาณิชย์ และ (5) มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ว่าลูกค้าจะจ่ายเงินค่าขนมปัง
ขั้นตอนที่ 2 ระบุภาระที่ต้องปฏิบัติในสัญญา
ภายใต้ 1 สัญญา สามารถมีภาระที่ต้องปฏิบัติได้มากกว่า 1 รายการ กิจการจะต้องประเมินว่าสัญญามีกี่ภาระ ณ วันเริ่มต้นสัญญา ภาระจะแยกจากกันเมื่อเข้าเงื่อนไข 2 ข้อ คือ (1) ลูกค้าได้รับประโยชน์จากการใช้สินค้าหรือบริการโดยตรง และ (2) ข้อตกลงส่งมอบสินค้าแยกจากกันได้
ขั้นตอนที่ 3 กำหนดราคาของรายการ
กิจการจะต้องกำหนดราคาของรายการ (สัญญา) ว่าภาระผูกพันนี้มีราคาเท่าไหร่เพื่อใช้ปันส่วนในขั้นตอนที่ 4 การกำหนดราคาประกอบด้วย: ราคาที่กำหนดในสัญญา + สิ่งตอบแทนผันแปร + สิ่งตอบแทนที่ไม่ใช่เงินสด – สิ่งตอบแทนที่จ่ายให้ลูกค้า – ค่าจัดหาเงินที่มีนัยสำคัญ
สิ่งตอบแทนผันแปร เช่น ส่วนลด การให้เงินคืน เงินจูงใจจากการขาย
ขั้นตอนที่ 4 ปันส่วนราคาของรายการให้กับภาระที่ต้องปฏิบัติที่รวมอยู่ในสัญญา
กรณี 1 สัญญามีมากกว่า 1 ภาระ กิจการจะต้องปันส่วน “ราคาของรายการ (สัญญา)” ให้แต่ละภาระ วิธีปันส่วนทำได้ 3 แบบ
- วิธีปรับปรุงจากการสำรวจตลาด
- วิธีต้นทุนที่คาดไว้บวกด้วยอัตรากำไร
- วิธีส่วนของราคาที่เหลือ
ขั้นตอนที่ 5 รับรู้รายได้
กิจการจะรับรู้รายได้เมื่อทำภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้น หมายถึง “โอนอำนาจควบคุม” ในสินค้าไปยังลูกค้า การโอนอำนาจควรคุมทำได้ 2 แบบ คือ (1) ภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้นตลอดช่วงเวลาหนึ่ง และ (2) ภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง กิจการจะต้องระบุว่าใช้วิธีพิจารณาแบบใด ณ วันเริ่มต้นสัญญา
กรณี 1 รับรู้รายได้ตามภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้นตลอดช่วงเวลาหนึ่ง สามารถใช้ได้เมื่อลักษณะของภาระเข้าข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
- ลูกค้าได้รับประโยชน์จากการใช้ทันที
- ลูกค้าได้อำนาจควบคุมเพิ่มขึ้น
- การปฏิบัติงานของกิจการไม่ก่อให้เกิดการนำไปใช้อื่น
กรณี 2 รับรู้รายได้ตามภาระที่ต้องปฏิบัติเสร็จสิ้น ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง ใช้เมื่อกรณี 1 ไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้